“คิวอี - TopicsExpress



          

“คิวอี เอฟเฟกต์”ตลาดจับตาเฟดจบคิวอี จ่อขึ้นอัตราดอกเบี้ย นายแบงก์ชี้กระทบแผนลงทุนตปท. เหตุต้นทุนพุ่ง สบน.คลังเล็งทบทวนแผนก่อหนี้ ชี้แบกต้นทุนแล้ว 0.50% ยันแผนลงทุนนํ้า- 2 ล้านล้านบาท รับมือได้ถึงปีหน้าเชื่อสภาพคล่องภายในรองรับอยู่ ด้านตลาดหุ้นอาฟเตอร์ช็อก คำสั่งซื้อ-ขายผ่านเน็ตล่ม หลังมูลค่าซื้อขายทั้งวันทะลุ 7.9 หมื่นล้านบาท เผย 1 เดือนต่างชาติขายสุทธิแล้วกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท มีลุ้นทองคำลงแตะ 1,200 ดอลลาร์/ออนซ์ การส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด หลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ( FMOC ) 2 วัน เมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายน 2556 และมีความชัดเจนว่าเฟดจะยุติการอัดฉีดเงินเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในกลางปีหน้า และจากนี้ไปปีนี้เฟดจะชะลอเม็ดเงินอัดฉีด จากระดับปัจจุบันที่เดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งปฏิกิริยาทันทีต่อตลาดทุน- ตลาดเงิน ตลอดจนความผันผวนในตลาดทองคำ *จบคิวอี-เฟดจ่อขึ้นดอกเบี้ย ต่อประเด็นนี้นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าผลกระทบจากการยุติคิวอี จะส่งผลให้เงินทุนต่างชาติที่เคยไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไหลกลับออกไปอย่างรุนแรง เนื่องจากเกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับจากนี้จึงจะเห็นเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนรุนแรง อย่างไรก็ตาม ภายหลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทันที ซึ่งคาดการณ์จะไม่ใช่ระดับเพียง 1% ต่อปี แต่มีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเห็นการทยอยปรับขึ้นในระดับ 2-3% ต่อปี ซึ่งสัญญาณดังกล่าวจะกลายเป็นปัจจัยหนุนให้เงินทุนไหลกลับเข้าไปเร็วขึ้น " ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น เงินทุนจากทั่วโลกก็จะไหลกลับไปยังสหรัฐฯ ทำให้ประเทศต่างๆ ที่มีเงินไหลเข้าในช่วงก่อนหน้า เช่น เอเชีย ตลาดเกิดใหม่เริ่มแย่ เลวร้ายยิ่งกว่าคือ พอเริ่มแย่นักลงทุนก็จะตระหนกยิ่งจะทำให้เงินไหลออกเร็วขึ้นและมากขึ้นอีก โดยที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นโดมิโนทำให้ตลาดเกิดใหม่ที่จะแย่ไปตามๆ กัน ดังนั้น ภาครัฐ เอกชน จึงต้องเตรียมรับมือไว้ให้พร้อม" นายสมภพ กล่าวว่า จากนี้จะเป็นหน้าที่หนักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารนโยบายการเงิน-การคลัง โดยนโยบายการเงินคงถึงเวลาปรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เพื่อชะลอการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งธปท.ต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี ขณะที่นโยบายการคลังต้องเร่งสร้างเสถียรภาพให้มีมากขึ้น โดยเฉพาะวิธีการบิดเบียนกลไกตลาดต่างๆ ควรชะลอลงหรือยกเลิกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทย *ดร.ซุปเตือนกู้เงิน-ลงทุนเสี่ยง สอดคล้องกับนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและพัฒนา (อังค์ถัด) กล่าวว่า การทยอยลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ต้องระวังแต่เชื่อว่าทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง รับมือได้อยู่แล้ว ทั้งนี้กระแสเงินทุนไหลกลับมากขึ้น จะทำให้ปริมาณเงินในตลาดลดลงและดอกเบี้ยมีโอกาสขึ้นอีก ดังนั้นการกู้เงิน หรือการลงทุนในตลาดหุ้น ตลอดจนภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องระมัดระวัง จากผลตอบแทนที่ปรับลดลง อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนสูง "ผมเห็นด้วยกับแนวทางของ ธปท. ที่ให้คงดอกเบี้ย เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยต่างประเทศเป็นขาขึ้นแล้วเพื่อสกัดเงินเฟ้อในอนาคต *รัฐบาล แบกต้นทุนกู้เพิ่ม 0.5% แหล่งข่าวจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าผลต่อเนื่องจากมาตรการ QE ของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ครึ่งปีหลังของไทยต้องเผชิญกับภาวะปริมาณเงินตรึงตัว และเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการเงินของไทยต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบดังกล่าวจะกระทบกับตลาดเงินและตลาดพันธบัตรในไทยไม่มากนัก เนื่องจากได้หารือกับธปท. รายงานว่า ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อภาคเอกชนและรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ยังชะลอตัว อีกทั้งแผนการกู้เงินของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปตามแผน ทำให้ตลาดเงินในประเทศยังมีสภาพคล่องส่วนเกินพอ ซึ่งพอจะช่วยพยุงสถานการณ์ไว้ได้ ทั้งนี้คาดว่า ต้นทุนการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลในตลาดพันธบัตร จะปรับเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 0.5% จากปัจจุบันต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล พันธบัตร อายุ 6 เดือน - 1ปี ที่ 2.7-2.8% , พันธบัตร อายุ 2-5ปี ที่ 2.7-3% , พันธบัตร อายุ 10 ปีที่ 3.6% , พันธบัตร อายุ 30 ปีที่ 4.3% และพันธบัตร อายุ 50 ปีที่ 4.4% ขณะที่ต้นทุนการกู้รัฐวิสาหกิจปัจจุบัน สูงกว่ารัฐบาล ประมาณ 0.25-0.3% *ยันลงทุนรัฐปีหน้ายังไม่กระทบ จากเหตุผลข้างต้น ถือว่ายังไม่กดดันต่อตลาดเงินในประเทศ หากรัฐบาลต้องการกู้เงินในประเทศ โดยในครึ่งปีหลังจนถึงปีหน้าคาดว่า เม็ดเงินกู้ยังไม่มาก จากโครงการบริหารจัดการน้ำ สิ้นปีนี้คาดว่าจะกู้เงินไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาท และกู้เพื่อชดเชยขาดดุลปี 2556 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ขณะนี้เหลือเพียง 4-3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และการชำระหนี้ต่างประเทศได้ปิดความเสี่ยง สว็อป หนี้เงินเยนไม่มากแล้ว ช่วงที่เหลือขึ้นอยู่กับจังหวะอย่างน้อยต้องไม่ขาดทุน ส่วนแผนปีหน้า คลังมีแผนกู้เข้ามาชดเชยขาดดุลที่ลดลงเหลือ 3 แสนล้านบาท รวมเงินกู้โครงการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท คาดจะเริ่มกู้เงินได้เฉพาะโครงการรถไฟรางคู่ เม็ดเงินเพียง 10% จากงบประมาณของการรถไฟฯเท่านั้น ซึ่งต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะในการประมูลพันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาล เริ่มมีธนาคารพาณิชย์หน้าใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น *สะเทือนแผนลงทุนตปท. ด้านนายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า การส่งสัญญาณยุติคิวอี จะส่งผลให้ธุรกิจไทยบางส่วนที่มีแผนจะออกไปลงทุนในต่างประเทศ อาจชะลอการตัดสินใจ เพราะต้นทุนกู้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังเป็นผลจากเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ราคาสินทรัพย์ในต่างประเทศแพงขึ้น และคาดการณ์ว่าระยะสั้นนี้ จะไม่เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ตามดอกเบี้ยนโยบาย (หลังปรับลดลง 0.25% มาที่ 2.50 % เมื่อ 29 พ.ค. 2556 ) อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าระยะถัดไปอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นทั้งอัตราดอกเบี้ยในและต่างประเทศชัดเจน จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะกลางและระยะยาวของประเทศไทย หรือจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว ผลกระทบกับภาคธุรกิจนั้น แยกเป็น 4 ส่วน คือ 1.กลุ่มลูกค้าที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจออกไปลงทุนต่างประเทศ กลุ่มดังกล่าวนี้อาจชะลอการตัดสินใจและพิจารณาความคุ้มค่าก่อน 2.กลุ่มที่เพิ่งออกไปลงทุนยังต่างประเทศและต้องการเงินลงทุนเป็นล็อตๆ จากในประเทศ อาจชะลอนำเงินออกในช่วงต้น 3 กลุ่มนำเข้า เช่น วัตถุดิบ เครื่องจักร เป็นต้น และ 4. กลุ่มสุดท้ายลูกค้าที่ออกไปลงทุนยังต่างประเทศและเดินเครื่องธุรกิจมานานแล้ว กลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนมากนัก โดยเฉพาะที่การลงทุนนั้นเป็นการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้แตกต่างกันมากนักและดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เป็นเพียงตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น *ระบบส่งคำสั่งซื้อ-ขายตลาดฯล่ม โดยบรรยากาศตลาดหุ้นไทยวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมาเปิดตลาดดัชนีปรับตัวลงเกือบ 50 จุดดัชนีลงเกือบแตะ 1,350 จุด และมีแรงดีดกลับขึ้นมา เป็นภาวะดัชนีผันผวนตลอดทั้งวัน ในระหว่างวันยังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมจัดตั้ง "กองทุนพยุงหุ้น " แต่ได้รับการยืนยันทั้งจากนาย จรัมพร โชติกเสถียร ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ และนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเห็นพ้องกันว่า ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องตั้งกองทุน สำหรับมูลค่าการซื้อขายตลอดทั้งวัน อยู่ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท และจากโวลุ่มทะลักช่วงปลายตลาดประมาณเวลา 16.36 น.ส่งผลให้ระบบการส่งคำสั่งซื้อขายออนไลน์ด้วยระบบ "Settrade Streaming"เกิดล่มนักลงทุนเสียหายจากออร์เดอร์ค้าง ก่อนที่ดัชนีปิดที่ 1,400.50 จุด ลดลง 1.69 จุด คิดเป็น 0.12 % โดยมีนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิต่อเนื่อง 3.48 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทเซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด ผู้ให้บริการ (Vendor) ระบบซื้อขายหลักทรัพย์และอนุพันธ์ผ่านอินเตอร์เน็ต แก่บริษัทหลักทรัพย์ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2556 ระบบได้เกิดความขัดข้องขึ้นและไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ ตั้งแต่เวลา ประมาณ 16.10 น. โดยมีสาเหตุเบื้องต้นมาจากความผิดปกติของฮาร์ดแวร์ ทั้งนี้ โบรกเกอร์ที่ซื้อขายหลักทรัพย์ส่วนใหญ่มีระบบส่งคำสั่งซื้อขายมากกว่า 1 ระบบ จึงสามารถใช้ระบบอื่นส่งคำสั่งซื้อขายให้ลูกค้าได้ โดยคาดว่าจะแก้ไขระบบแล้วเสร็จและสามารถให้บริการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตในภาคค่ำของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ในวันเดียวกันนี้ *ลุ้นทองปลายปีหลุดแตะ 1,200 ดอลลาร์ ด้านการเคลื่อนไหวราคาทองคำ นายกฤชรัตน์ หิรัณยศิริ รองเลขาธิการ สมาคมค้าทองคำ ประธานกรรมการห้างทองแม่ทองสุก เยาวราช กล่าวว่า ทิศทางราคาทองในระยะยาวหลังจากนี้ถือว่ายังเป็นขาลงอยู่ ส่วนในระยะสั้นราคาก็มีการแกว่งตัวอย่างมาก โดยจุดต่ำสุดอยู่ที่ 1,273 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากถามว่ามีโอกาสตกลงมากกว่านี้หรือไม่ในระยะสั้น ก็เชื่อว่าน่าจะมี อีกทั้งยังมองว่าราคาในช่วงปลายปียังน่าจะมีโอกาสลดลงไปมากกว่านี้ โดยอาจจะลดลงไปเหลือที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,150 ดอลลาร์สหรัฐฯได้ สำหรับค่าเงินบาทปิดช่วงเย็นวันที่ 21 มิถุนายน 2556 แตะที่ 31.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าจากช่วงเช้าวันเดียวกันที่เปิดที่ 31.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
Posted on: Tue, 25 Jun 2013 10:09:07 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015