การทบทวนโดยตุลาการ (judicial - TopicsExpress



          

การทบทวนโดยตุลาการ (judicial review) เนื้อหานี้ผมเคยโพสต์มาแล้วเมือสักสองปีก่อน เห็นว่า ขณะนี้น่าจะเป็นประโยชน์ จึงโพสต์อีกครั้ง เนื้อหานี้มาจากส่วนหนึ่งในบทความของผมเรื่อง หลักตุลาการภิวัตน์ ใน เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ หมายเลข 78 ซึงเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง ตุลาการภิวัตน์กับประชาธิปไตย เดอะเฟเดอรัลลิสต์ เปเปอร์ (The Federalist Papers (1788)) เป็นเอกสารทางปรัชญาการเมืองที่สำคัญ...ที่สุดชิ้นหนึ่งของสหรัฐอเมริกา นามปากกา พูบลิอัส (Publius) คือ นามปากกาที่ใช้ในการเขียนร่วมกันของ Alexander Hamilton, James Madison, John Jay และสำหรับบทความหมายเลข 78 นี่้ สันนิษฐานว่า เป็นผลงานของ Alexander Hamilton ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งในทางความคิดและแนวปฏิบัติของ judicial review ในระบอบการเมืองสหรัฐอเมริกาในยุคแรกเริ่ม หากสนใจอ่านในภาษาไทย : สมบัติ จันทรวงศ์ และคณะ แปล. เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ : เอกสารความคิดทางการเมืองอเมริกัน. สมบัติ จันทรวงศ์ บรรณาธิการแปลและเขียนบทนำ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530) ........... การทบทวนโดยตุลาการ หลังจากที่ได้ปูพื้นว่าด้วยลักษณะของอำนาจตุลาการแล้ว เนื้อหาของ เฟเดอรัลลิสต์ 78 จากจุดนี้ไปเป็นการอภิปรายว่าด้วยการทบทวนโดยตุลาการ (judicial review – ในบทความ เฟเดอรัลลิสต์ 78 พูบลิอัสมิได้ใช้คำนี้ แต่เป็นคำที่บัญญัติขึ้นในภายหลัง ) โดยนำเสนอหลักการที่ว่า แม้การปกครองโดยรัฐธรรมนูญก็จำต้องยึดหลัก “รัฐธรรมนูญที่มีขีดจำกัด” (limited Constitution) ซึ่งพูบลิอัสหมายถึงการที่มีข้อยกเว้นอย่างเฉพาะเจาะจงต่อการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ตัวอย่างเช่น ห้ามฝ่ายนิติบัญญัติตรากฎหมายตัดสินบุคคลว่าทรยศต่อบ้านเมือง หรือกฎหมายที่มีผลบังคับย้อนหลัง เป็นต้น การสร้างข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญเช่นนี้ พูบลิอัสเห็นว่าไม่มีหนทางอื่นนอกจากกระทำโดยผ่านศาลสถิตยุติธรรม ซึ่ง “มีหน้าที่ต้องประกาศให้กฎหมายทั้งหลายที่ขัดแย้งกับแนวโน้มอันแจ่มชัดของรัฐธรรมนูญตกเป็นโมฆะไป” และหากปราศจากการตีกรอบของนิติบัญญัติเช่นนี้ การธำรงรักษาสิทธิหรือเอกสิทธิ์ใดๆ ย่อมไม่อาจบังเกิดผลได้เลย จากนั้นพูบลิอัสจึงได้หยิบยกข้อโต้แย้งต่ออำนาจดังกล่าวของตุลาการที่ว่า หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่เท่ากับว่าอำนาจตุลาการอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติล่ะหรือ เพราะเหตุที่ว่า ฝ่ายที่มีอำนาจในการวินิจฉัยว่าการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะย่อมมีอำนาจเหนือฝ่ายที่อาจถูกวินิจฉัยให้เป็นโมฆะนั้น ข้อโต้แย้งที่พูบลิอัสหยิบยกขึ้นมานี้นับว่าสำคัญยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นในบริบททางการเมืองอเมริกาสมัยนั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นโต้แย้งที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากฝ่ายที่ถือว่า อำนาจของรัฐสภาย่อมอยู่ในสถานะสูงสุดเหนืออำนาจศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งมักเรียกความคิดตามแนวนี้ในระบอบรัฐสภาว่า “อธิปไตยโดยรัฐสภา (parliamentary sovereignty)” หรือ “อำนาจสูงสุดโดยรัฐสภา (parliamentary supremacy)” ดังนั้นฝ่ายตุลาการจึงไม่พึงมีอำนาจที่จะขัดขวางการกระทำหรือการบัญญัติกฎหมาย (Act) ของฝ่ายนิติบัญญัติได้ ในการอภิปรายเนื้อหาเพื่อตอบประเด็นข้างต้นและประเด็นที่สืบเนื่องต่อมา พูบลิอัสกล่าวถึงหลักการเป็นอันมากที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับไป ในที่นี้ข้าพเจ้าขอนำเสนออย่างแยกแยะทีละประเด็นดังต่อไปนี้ 1. ที่มาของอำนาจของผู้แทนฝ่ายนิติบัญญัติ พูบลิอัสให้เหตุผลว่า ในเมื่ออำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติตลอดจนสมาชิกที่เป็นผู้แทนเป็นอำนาจที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นอำนาจของประชาชน เพราะฉะนั้น การบัญญัติกฎหมายใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจถือว่าถูกต้องชอบธรรมได้ หากอำนาจของผู้แทนฝ่ายนิติบัญญัติอยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับว่า มีอำนาจเกินกว่าที่ได้รับมอบหมาย ตามที่กำหนดและจำกัดไว้โดยรัฐธรรมนูญ 2. เจตนารมณ์ของผู้แทนไม่อาจแทนที่เจตนารมณ์ของประชาชน พูบลิอัสเสนอว่า ในกรณีที่มีประเด็นว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้น กับกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมมีนัยว่า เป็นการขัดกันระหว่างเจตนารมณ์ของผู้แทนกับเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญย่อมไม่ประสงค์จะให้เจตนารมณ์ของผู้แทนเข้ามาแทนที่เจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแน่นอน ในกรณีที่เกิดประเด็นปัญหาว่าด้วยการขัดกันเช่นนี้ ย่อมไม่สมควรที่จะให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยตัดสิน 3. ศาลคือองค์กรกลางที่เหมาะสมในการวินิจฉัยกรณีเช่นนี้ พูบลิอัสนำเสนอต่อไปทันทีว่า เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลกว่าที่จะถือว่า ศาลได้รับการจัดวางไว้เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรกลาง (intermediate body) ระหว่างประชาชนกับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อที่จะตีกรอบให้ฝ่ายหลังใช้อำนาจภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ได้รับ ทั้งนี้เพราะ “การตีความกฎหมายเป็นขอบเขตอำนาจที่เหมาะสมและเป็นการเฉพาะของศาลสถิตยุติธรรม” และในการทำหน้าที่ตีความกฎหมายนี้ ศาลจะต้องให้ความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญมากกว่ากฎหมายที่บัญญัติขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายพื้นฐาน (fundamental law) การให้ความสำคัญแก่รัฐธรรมนูญมากกว่านี้ยังเท่ากับเป็นการให้ความสำคัญต่อเจตนารมณ์ของประชาชนมากกว่าเจตนารมณ์ของตัวแทนของพวกเขา 4. อำนาจดังกล่าวสะท้อนถึงอำนาจของประชาชนซึ่งเหนือกว่าทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม หลักการดังกล่าวมิได้สะท้อนถึงอำนาจที่เหนือกว่าของฝ่ายตุลาการ แต่มาจากพื้นฐานที่ว่า อำนาจของประชาชนย่อมอยู่เหนือกว่าอำนาจทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นเมื่อเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของประชาชน ผู้พิพากษาจะต้องยึดเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นหลัก 5. สถานะของรัฐธรรมนูญย่อมเหนือกว่ากฎหมายที่บัญญัติตามมาภายหลัง พูบลิอัสหยิบยกข้อถกเถียงในเชิงนิติศาสตร์อีกประการหนึ่งขึ้นมาพิจารณา กล่าวคือ ตามหลักนิติศาสตร์โดยทั่วไป ในกรณีที่มีกฎหมายขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะขัดแย้งกันในบางส่วน หรือขัดกันทั้งฉบับก็ตาม กฎหมายที่บัญญัติหลังสุดย่อมชอบธรรมกว่าและพึงได้รับการยอมรับมากกว่ากฎหมายที่บัญญัติก่อนหน้าทั้งหมด อันที่จริง หลักการดังกล่าวนี้ไม่มีข้อกฎหมายใดยืนยันไว้เป็นการเฉพาะ แต่ถือกันว่ามีพื้นฐานมาจาก “ธรรมชาติและเหตุผล” (nature and reason) ของเรื่องนี้ กระนั้นก็ตาม หลักดังกล่าวนี้จะนำมาใช้กับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลบังคับก่อนหน้ากับกฎหมายที่บัญญัติภายหลังนั้น หาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะในกรณีของกฎหมายที่ขัดกัน เป็นการขัดกันของสิ่งที่มีสถานะเท่าเทียมกัน แต่ในกรณีของรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ตามมา เป็นการขัดแย้งกันระหว่างสิ่งที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น การกระทำหรือสิ่งที่บัญญัติขึ้นก่อน ซึ่งก่อให้เกิดผลและความชอบธรรมให้กับสิ่งที่บัญญัติภายหลัง ย่อมมีสถานะเหนือกว่า และพึงได้รับความสำคัญยิ่งกว่า 6. ศาลทำหน้าที่วินิจฉัยแต่มิได้บัญญัติกฎหมาย พูบลิอัสยกข้อกังขาอีกประการหนึ่งขึ้นมาว่า ศาลอาจอ้างกรณีขัดกันระหว่างรัฐธรรมนูญกับกฎหมายกระทำการตามอำเภอใจก็ได้มิใช่หรือ ต่อข้อสงสัยดังกล่าว พูบลิอัสอธิบายว่า ข้อสงสัยต่อ “อำเภอใจ” ของศาลเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้แม้ในกรณีที่กฎหมายสองฉบับขัดกัน หรือในกรณีที่มีข้อขัดแย้งกันเองในกฎหมายฉบับเดียวกัน แต่ในทางปฏิบัติ ศาลกระทำได้แต่เพียงตีความวินิจฉัยและแถลงนัยของกฎหมาย (declare the sense of the law) เท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะใช้ “เจตนารมณ์” แทน “การวินิจฉัย” นี้ได้ หากศาลใช้เจตนารมณ์ (เพื่อร่างและบัญญัติกฎหมาย) ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทำตามอำเภอใจอย่างแน่นอน แต่ในเมื่อศาลมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญเพียงแค่วินิจฉัยและทบทวนกฎหมาย อำนาจของศาลจึงถูกตีกรอบจำกัดเอาไว้แล้ว พูบลิอัสยังปิดท้ายการอธิบายประเด็นนี้ด้วยการกล่าวว่า หากข้อสงสัยดังกล่าวนี้จะชี้ให้เห็นอะไรได้ ก็คงเป็นการชี้ให้เห็นว่า ไม่ควรมีผู้พิพากษาอื่นใดนอกเหนือไปจากองค์กรของศาลสถิตยุติธรรม การเน้นย้ำเช่นนี้ปิดช่องมิให้มีการจัดตั้งคณะบุคคลหรือองค์กรขึ้นมา นอกเหนือไปจากองค์กรของศาลตามที่มีอยู่โดยปกติ เพื่อใช้อำนาจในการทบทวนกฎหมายเป็นการเฉพาะ และแนวความคิดเช่นนี้เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้อำนาจการทบทวนของตุลาการและตุลาการภิวัตน์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในการเมืองอเมริกัน มิได้ก่อให้เกิดการจัดตั้ง “องค์กรอิสระ” ทางตุลาการใดๆ ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากแนวความคิดและวิถีปฏิบัติของระบอบการเมืองในยุโรปและอีกหลายแห่งทั่วโลก 7. การทำหน้าที่โดยอิสระของอำนาจตุลาการคือปราการปกป้อง “รัฐธรรมนูญแบบที่มีขีดจำกัด” พูบลิอัสอภิปรายต่อไปโดยเชื่อมโยงกลับไปสู่ความคิดว่าด้วยรัฐธรรมนูญแบบที่มีขีดจำกัด (limited Constitution) และชี้ให้เห็นว่า การทำหน้าที่โดยอิสระของศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการวินิจฉัยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นเสมือนปราการที่ทำให้การปกครองเช่นนี้เกิดขึ้นได้จริง และในอันที่จะทำให้ผู้พิพากษาทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระจะต้องกำหนดให้การดำรงตำแหน่งในฐานะผู้พิพากษามีวาระถาวร ยิ่งไปกว่านั้น ปราการดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะปกป้องรัฐธรรมนูญและสิทธิของปัจเจกชนจากการคุกคามของบรรดาผู้แทนในฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผลกระทบจาก “อารมณ์ร้าย” (ill humors) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งเป็นคราวจากการก่อหวอดของผู้คน จนลุกลามแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั้งหลายเอง ยังผลให้เกิดการตัดสินใจและการกระทำการอย่างผิดแผกจากแนวทางของรัฐธรรมนูญ หรือสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายที่เป็นกลุ่มน้อยในประชาคมได้ ข้อพิจารณาในเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่พูบลิอัสเน้นย้ำโดยตลอดใน เฟเดอรัลลิสต์ กล่าวคือ แม้ระบอบมหาชนรัฐจะถือว่าอำนาจเป็นของประชาชนและตัดสินโดยใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่เสียงข้างมากก็อาจเป็นอันตรายต่อรัฐธรรมนูญและประชาคมได้ เมื่อกลายเป็น “กลุ่มเฉพาะที่เป็นเสียงข้างมาก” (majority faction) ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อความรู้สึกนึกคิดของมหาชนถูกชักนำด้วยข้อมูลที่ถูกบิดเบือนและการปลุกเร้าอารมณ์สร้างความแตกแยก แน่นอนว่าเสียงข้างมากของมหาชนรัฐอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองได้ แต่สำหรับพูบลิอัส ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับเปลี่ยนด้วย “การกระทำที่จริงจังและทรงสิทธิอำนาจ” ของประชาชน ก็ย่อมเป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการที่จะทบทวนยับยั้งการตรากฎหมายหรือการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลผูกพันต่อประชาชนทั้งโดยในฐานะที่เป็นส่วนรวม (collectively) และในฐานะที่เป็นปัจเจกชน (individually) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้พิพากษาจะต้องยืนหยัดด้วยความกล้าหาญเป็นพิเศษในการทำหน้าที่อย่างอิสระในฐานะ “ผู้พิทักษ์แห่งรัฐธรรมนูญ” (guardian of the Constitution) ในกรณีที่รัฐธรรมนูญถูกรุกล้ำโดยฝ่ายนิติบัญญัติ แม้ว่าการรุกล้ำนี้จะได้รับการสนับสนุนโดยเสียงข้างมากของประชาคมทางการเมืองก็ตาม 8. อำนาจของตุลาการทำหน้าที่ผ่อนหนักเป็นเบาต่อความอยุติธรรม พูบลิอัสนำเสนอต่อไปว่า อันที่จริงความอยุติธรรมมิได้จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากกลุ่มเฉพาะที่เป็นเสียงข้างมากแต่อย่างใด กฎหมายจำนวนไม่น้อยที่ตราขึ้นแล้วอาจก่อให้เกิดความอยุติธรรมและความลำเอียงต่อกลุ่มคนหรือชนชั้นของพลเมืองต่างๆ ได้ไม่น้อยทีเดียว ศาลต้องคำนึงถึงความอยุติธรรมดังกล่าวด้วย เพราะฉะนั้น การทำหน้าที่ของศาลจึงต้องเป็นการผ่อนหนักเป็นเบาต่อความอยุติธรรม และเท่ากับส่งสัญญาณต่อฝ่ายนิติบัญญัติให้รอบคอบมากยิ่งขึ้นในการตรากฎหมาย การทำหน้าที่สะท้อนความอยุติธรรมของกฎหมายเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดเงื่อนไขที่ว่า ในภายภาคหน้าหากผู้คนหรือกลุ่มใดก็ตามต้องการผลักดันกฎหมายที่ประสงค์ร้าย ลำเอียง หรืออยุติธรรมต่อคนกลุ่มใด ก็จะถูกบังคับให้ต้องสร้างความชอบธรรมให้ชัดเจนโดยปริยาย (ซึ่งก็จะยากยิ่งขึ้นหรืออาจเป็นไปไม่ได้) พูบลิอัสมองว่า การทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการในลักษณะเช่นนี้มีความสำคัญชนิดที่คนจำนวนน้อยจะแลเห็นได้ การดำเนินการด้วยความสุจริต รู้จักประมาณและผ่อนหนักเป็นเบา (moderation) ของศาล ย่อมส่งผลในทางบวกต่อคนทุกคนในสังคม แน่นอนว่าการผ่อนหนักเป็นเบาอาจสร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนหนึ่งที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับกรณีนั้นๆ แต่การดำเนินการเช่นนี้ของศาลย่อมจะได้รับการยกย่องชื่นชมจากสุจริตชนและผู้ที่มิได้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะแม้วันนี้พลเมืองคนหนึ่งอาจจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากเจตนารมณ์ที่ไม่เป็นธรรม แต่วันพรุ่งนี้ก็เขาอาจจะตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมได้เช่นกัน หากศาลมิได้รักษาความรู้จักประมาณผ่อนหนักเป็นเบาเช่นนี้ สังคมจะตกเข้าสู่ภาวะที่อันตรายอย่างยิ่งยวด เพราะเจตนารมณ์อันอยุติธรรมที่ส่งผลอย่างรุนแรงจะบั่นทอนรากฐานของ “ความเชื่อมั่นส่วนบุคคลและส่วนรวม” อันจะนำมาซึ่ง “ความไม่ไว้วางใจ” (distrust) และ “ความตึงเครียด” (distress) ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างครอบคลุมทั่วสังคมในที่สุด เท่ากับเป็นการกัดเซาะรากฐานของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนทางการเมืองนั่นเอง เราจะเห็นได้ว่า พูบลิอัสมิได้มองอำนาจของฝ่ายตุลาการในการทบทวนกฎหมายเพียงแค่ก่อนที่จะมีการตรากฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (ตลอดการกำหนดนโยบายของฝ่ายบริหาร) ขึ้นใหม่เท่านั้น แม้ในกรณีที่กฎหมายและนโยบายได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่แล้ว อำนาจตุลาการย่อมทำหน้าที่ทบทวนได้โดยอาศัยการวินิจฉัยคดีความ ซึ่งบ่งชี้ถึงความอยุติธรรมหรือความลำเอียงของกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกรณีนั้นๆ ได้โดยอ้อม 9. ผู้พิพากษาคือผู้เชี่ยวชาญประสบการณ์ทางกฎหมายของสังคมการเมือง ในประเด็นสุดท้ายของ เฟเดอรัลลิสต์ 78 พูบลิอัสกล่าวถึงเหตุผลอีกประการหนึ่งที่จะต้องให้ผู้พิพากษามีวาระการดำรงตำแหน่งถาวร โดยอธิบายว่าในระบอบการปกครองแบบเสรี (free government) ซึ่งการปกครองจะไม่อิงอำเภอใจของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ตาม ย่อมมีความไม่สะดวก (inconvenience) ประการหนึ่ง กล่าวคือ กฎหมายซึ่งเป็นรากฐานของการปกครองจะมีจำนวนมากมาย และประสบการณ์ในการวินิจฉัยตามกฎหมายที่สั่งสมเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งจะเป็นแหล่งอ้างอิงให้กับการวินิจฉัยครั้งต่อๆ ไป ก็จะมีจำนวนมหาศาลเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ตัวบทกฎหมายและประสบการณ์การวินิจฉัยดังกล่าวย่อมมีคนจำนวนไม่มากนักที่สามารถศึกษาทำความเข้าใจโดยละเอียดได้ ทั้งยังต้องอาศัยความทุ่มเทเป็นเวลายาวนาน ยิ่งถ้าคำนึงถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่มักโน้มเอียงไปในทางอกุศลด้วยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญอย่างเอกอุเช่นนั้นซึ่งกอปรด้วยความสุจริตยุติธรรมก็ยิ่งหาได้ยากขึ้นเป็นทวี พูบลิอัสจึงอาศัยเหตุผลดังกล่าวสนับสนุนวาระการดำรงตำแหน่งแบบถาวรตราบเท่าที่ประพฤติชอบในอีกทางหนึ่ง แต่เราก็จะเห็นได้เช่นกันว่า นี่เท่ากับเป็นการสนับสนุนอำนาจในการทบทวนของฝ่ายตุลาการด้วยเหตุผลของความรู้ความเชี่ยวชาญและคุณธรรมที่สั่งสมมายาวนาน ซึ่งมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะบรรลุได้ ต่างจากมุมมองที่เน้น “ประชาธิปไตย” โดยเสียงข้างมากหรือคนส่วนใหญ่อย่างยิ่ง
Posted on: Wed, 04 Dec 2013 09:05:25 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015