******* บทคัดย่อ --** งานวิจัย - TopicsExpress



          

******* บทคัดย่อ --** งานวิจัย สถานภาพกองทุนซะกาตและสวัสดิการสังคมในประเทศไทย กรณีศึกษาตัวอย่างความ สำเร็จของกองทุนซะกาตและสวัสดิการสังคมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ชื่อผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข นายชัช หะซาเล็ม นายทวีศักดิ์ หมัดเนาะ ปีที่ศึกษา 2555 ------------------ การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพและแนวทางการดำเนินงานของ กองทุนซะกาตและสวัสดิการสังคมในประเทศไทย กรณีศึกษาตัวอย่างความสำเร็จของกองทุนซะกาตและสวัสดิการสังคมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ประชากรที่ใช้ในการวิจัยคือองค์กรหรือสถาบันที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารกองทุนซะกาตและสวัสดิการสังคมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดรวมทั้งสิ้น 39 จังหวัด จำนวน 61 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตรประมาณค่า 6 ระดับ แบบตรวจสอบรายการและแบบเขียนตอบ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนซะกาตและสวัสดิการสังคมในประเทศ พบว่า 1. สถานที่ตั้งขององค์กร โดยเรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยดังนี้ อยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันออก มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ส่วนด้านสถานภาพมีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือกองทุนซะกาต สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์บริการ ชมรม และสมาคม มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ด้านวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง เพื่อการสังคมสงเคราะห์มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือเพื่อกิจการศาสนา การศึกษาสามัญ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่วนในด้านระเบียบข้อบังคับขององค์กรมีเป็นลายลักษณ์อักษรทุกองค์กร 2. สถานภาพกองทุนซะกาตและสวัสดิการสังคมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยพิจารณาแต่ละด้าน ดังนี้ 2.1 ด้านการบริหารองค์กร พบว่า ส่วนใหญ่คณะกรรมการบริหารมาจากการแต่งตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งชัดเจน และส่วนใหญ่จบการศึกษาสามัญระดับปริญญาตรีขึ้นไป ความคิดเห็นต่อคุณสมบัติของคณะกรรมการบริหาร เห็นว่า ควรมีทักษะด้านการพัฒนาการศึกษามากที่สุด รองลงมาคือทักษะด้านการพัฒนาสังคม และทักษะด้านการบริหารจัดการองค์กร ส่วน ที่มา การศึกษา และความคิดเห็นต่อคุณสมบัติของผู้บริหารกองทุนฯ เหมือนกับคณะกรรมการบริหาร 2.2 ด้านการได้มาซึ่งทรัพย์บริจาค มาจากภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยวิธีการนำทรัพย์บริจาคไปให้ที่สำนักงาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือการตั้งโต๊ะรับบริจาคในงานประจำปี และการโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ ทรัพย์บริจาคทั่วไปมีจำนวนมากกว่าทรัพย์ซะกาต กรณีซะกาต ส่วนใหญ่คำนวณมาจากเงินเก็บออม องค์กรส่วนใหญ่มีการจัดทำฐานข้อมูลผู้บริจาคด้วยวิธีจดบันทึก (Manual) ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด เห็นด้วยกับการยกเว้นภาษีเงินบริจาค และภาษีรายได้ของกองทุนฯ กิจกรรมการระดมทรัพย์บริจาค ซึ่งเป็นที่นิยมเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ การจัดงานระดมทุน การติดต่อกับผู้บริจาคโดยตรง การประชาสัมพันธ์กิจกรรมขององค์กรทางสื่อสิ่งพิมพ์ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมขององค์กรทางสื่อวิทยุ การจัดทำจดหมายเชิญชวนถึงผู้บริจาคทางไปรษณีย์ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมขององค์กรทางสื่อโทรทัศน์ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมขององค์กรทางสื่ออิเล็คโทรนิกส์ เช่น Website/ Facebook และการประชาสัมพันธ์ผ่านโทรศัพท์มือถือ 2.3 ด้านการจัดสรรทรัพย์บริจาค พบว่า รายชื่อผู้ขอรับความช่วยเหลือได้มาจาการสำรวจเป็นส่วนใหญ่ และจัดทำข้อมูลผู้รับบริจาคด้วยวิธีจดบันทึก(Manuel) กิจกรรมหลักของการให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ การสนับสนุนกิจการศาสนา การสนับสนุนการศึกษาสามัญ และการสังคมสงเคราะห์ มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน กลุ่มบุคคลที่ได้รับวามช่วยเหลือสามลำดับแรกคือเด็กกำพร้า คนยากจน ขัดสน และนักเรียนนักศึกษา รูปแบบการช่วยเหลือ ได้แก่ ให้เงินก้อนเป็นระยะๆ ให้เงินก้อนครั้งเดียว และอุปถัมภ์รายเดือน มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน การให้ทุนการศึกษาสามัญในประเทศ กับให้ทุนการศึกษาศาสนาในประเทศ เป็นรูปแบบการสนับสนุนด้านการศึกษาที่นิยมทำกันเป็นส่วนมาก ส่วนด้านการก่อสร้างถาวรวัตถุ ส่วนใหญ่สนับสนุนการก่อสร้าง ต่อเติมอาคารเรียน การให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน ได้แก่การจัดหาสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัย การพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ส่วนใหญ่ได้แก่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ส่วนเงินซะกาต จัดสรรให้แก่บุคคล 3 ลำดับแรกใกล้เคียงกัน ได้แก่ คนยากจน(ฟากีร) คนขัดสน(มิสกีน) และการใช้จ่ายในหนทางของพระเจ้า 2.4 ด้านรายได้ กองทุนฯส่วนใหญ่มีกิจกรรมการหารายได้ของตนเอง ส่วนใหญ่ของรายได้มาจากอสังหาริมทรัพย์ เช่น ค่าเช่าอพาทร์เมนท์ รายได้จากการจำหน่ายสินค้า และรายได้จากผลตอบแทนทางการเงิน กองทุนฯส่วนใหญ่ลงทุนในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ไม่พบว่ามีการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินชนิดอื่น ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยอย่างมาก หากรัฐจะให้การสนับสนุนทุนประเดิมเริ่มต้นสำหรับการจัดตั้งกองทุนฯ 2.5 ด้านค่าใช้จ่าย กองทุนฯส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายของตนเอง สัดส่วนที่มากที่สุดคือค่าจ้างเงินเดือน รองลงมาคือค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสาร และค่าวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน 2.6 ด้านการควบคุมตรวจสอบ กองทุนฯส่วนใหญ่จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน งบการเงิน ทั้งแบบจดบันทึก(Manual) และบันทึกด้วยคอมพิวเตอร์ มีการแยกบัญชีซะกาตกับบัญชีทรัพย์บริจาคทั่วไป และมีการตรวจสอบภายใน และผู้ตรวจสอบภายนอก ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้มีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและตรวจสอบการปฏิบัติงานของกองทุน โดยมีสถานภาพเป็นองค์กรอิสระ กองทุนฯควรเป็นนิติบุคคล และมีการจัดทำบัญชีต่างๆ ของกองทุนฯที่ชัดเจน เกือบทั้งหมดของผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นด้วยกับการให้มีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำการทุจริตต่อกองทุนฯ 3. วิธีการกระตุ้นให้คนในสังคม ตระหนักและตัดสินใจบริจาคเงินหรือทรัพย์สินทั้งในรูปซะกาต หรือการบริจาคทั่วไป (ซอดะเกาะฮ์) พบว่า นำเอาหลักการทางศาสนาเข้ามาช่วยมีค่าความถี่สูงสุด การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ มีค่าความถี่รองลงมา และการสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือต่อการบริหารองค์กร มีค่าความถี่ต่ำสุด 4. ปัจจัยของความสำเร็จของกองทุนซะกาตและสวัสดิการสังคมในประเทศไทย ได้แก่ ความร่วมมือร่วมใจกันในการทำงานภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความจริงใจ ตั้งในทำงาน และความสามัคคี มีค่าความถี่สูงสุด ความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในการจัดการบริหารองค์อย่างมีระบบชัดเจน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ มีค่าความถี่รองลงมา ส่วนการให้การศึกษาทางสามัญและทางศาสนา มีความถี่ต่ำสุด 5. ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ของการดำเนินงานของกองทุนซะกาตและสวัสดิการสังคมในประเทศไทย ได้แก่ การบริหารการจัดการขององค์กรไม่เป็นระบบ ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ไม่โปร่งใส และตรวจสอบได้ยาก รองลงมาคือ ระดับการศึกษาในองค์กรมีความแตกต่างกันมากเกินไป ขาดการอบรม และมีแนวคิดที่แตกต่างกัน และ ขาดความร่วมมือร่วมใจกันในการทำงานภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เช่น ความไม่ซื่อสัตย์ ความอดทน ความจริงใจ ความตั้งใจในการทำงาน ความสามัคคี ความเสียสละ เป็นต้น 6. ความสามารถในการระดมทรัพย์บริจาครวม (ซะกาตรวมซอดะเกาะฮ์) พบว่า กองทุนฯจำนวน 61 แห่ง สามารถระดมทรัพย์บริจาครวมกันได้ 146,170,000 บาท ใน 1 ปี โดยเป็นทรัพย์บริจาคทั่วไป(ซอดะเกาะฮ์) สัดส่วนร้อยละ 55 และทรัพย์ซะกาต สัดส่วนร้อยละ 45 ประมาณว่า ทรัพย์บริจาคทั้งหมด ได้ถูกจัดสรรให้แก่กิจกรรมความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ได้แก่ จัดสรรใช้ไปเพื่อการช่วยเหลือคนยากจนและผู้ตกทุกข์ได้ยากมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 61.50 จัดสรรเพื่อการศึกษาศาสนาและสามัญเป็นลำดับที่สอง คิดเป็นร้อยละ 20.58 และจัดสรรเพื่อการพัฒนาสังคมและชุมชน คิดเป็นร้อยละ 17.92 ผลการวิจัยเชิงสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-deep Investigation) โดยใช้ตัวแบบ การตรวจสอบด้านการบริหาร ( Management Audit ) “ 7S ’s McKinsey Framework , Strategy Model ” เป็นเครื่องมือในการสัมภาษณ์กรณีศึกษาความสำเร็จของกองทุนซะกาตและสวัสดิการสังคมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน พบว่า องค์กรสองแห่งต่อไปนี้ ถือเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ ( Good Practice) ตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ได้แก่ 1. มูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า เป็นองค์กรตัวอย่างในเรื่องของการบริหารจัดการองค์กรเป็นทีม มีกลยุทธที่หลากหลาย ประสบผลสำเร็จในด้านการระดมทรัพย์บริจาค และการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้า และผู้ด้อยโอกาสอย่างมากมาย จนเป็นที่ยอมรับเชื่อถือจากสังคมอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเป็นต้นแบบของการขยายเครือข่ายองค์กรการกุศลของมุสลิมในระดับชุมชนอีกด้วย 2. มูลนิธิสภายุวมุสลิมโลก สำนักงานประเทศไทย เป็นสาขาองค์กรของต่างประเทศ มีระบบการบัญชีการเงินที่รัดกุม แม่นยำ และตรวจสอบได้ มีระบบการรายงานเพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ แบบตรงเวลา (Real Time) และสามารถตรวจสอบติดตาม ( Monitor) ผ่านระบบ On-line รวมทั้งเป็นองค์กรที่มีการพัฒนาและฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ
Posted on: Tue, 25 Jun 2013 03:30:13 +0000

Recently Viewed Topics




© 2015