หน่วยที่ 2 คุณภาพชีวิต - TopicsExpress



          

หน่วยที่ 2 คุณภาพชีวิต สุขภาพส่วนบุคคลและชุมชน คุณภาพชีวิต 2.1 ความหมายและความสำคัญของคุณภาพชีวิต คุณภาพชีวิต (quality of life) ได้มีนักวิชาการหลายท่านให้ความหมายไว้ ดังนี้ ศิริ ฮามสุโพธิ์ (2536 , หน้า 33) กล่าวถึงคุณภาพชีวิตว่า หมายถึง ชีวิตของบุคคลที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเหมาะสม ไม่เป็นภาระและไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสังคมเป็นชีวิตที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถดำรงชีวิตที่ชอบธรรม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ค่านิยมของสังคม สามารถแก้ไขปัญหา ตลอดจนการแสวงหาสิ่งที่ตนปรารถนาให้ได้มาอย่างถูกต้องภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ นิพนธ์ คันธเสวี (2537 , หน้า 10) กล่าวถึงคุณภาพชีวิตว่า หมายถึง ระดับสภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ตามองค์ประกอบของชีวิตอันได้แก่ ทางร่างกาย ทางอารมณ์ ทางสังคม ทางความคิดและ จิตใจ ชัยนาท จิตตวัฒนะ (2539 , หน้า 45) กล่าวถึงคุณภาพของชีวิตว่า หมายถึง สภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีอุปการะและเกื้อกูลซึ่งกันและกันภายในของแต่ละหน่วยชีวิตและระหว่างสิ่งมีชีวิตกับ สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จากรายงานคุณภาพชีวิตของคนไทย ปี 2539 ของศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชนบทกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย (อ้างถึง วิไลลักษณ์ ตั้งเจริญ, 2544 หน้า 29) กล่าวถึงคุณภาพชีวิตว่าเป็นการดำรงชีวิตของมนุษย์ในระดับที่เหมาะสมตามความจำเป็นพื้นฐาน ที่ได้กำหนดไว้ในสังคมหนึ่งๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงสรุปได้ว่า คุณภาพชีวิต หมายถึง การดำรงชีวิตในระดับที่เหมาะสมของมนุษย์ ตามสภาพความจำเป็นพื้นฐานในสังคม ซึ่งสนองต่อสิ่งที่ต้องการทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและความคิดอย่างเพียงพอ จนก่อให้เกิดความสุขตลอดทั้งการมีสุขภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดี ความสำคัญของคุณภาพชีวิต ศูนย์ประสานงานการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (2532 , หน้า 19) กล่าวถึง ความสำคัญของ คุณภาพชีวิตว่า คุณภาพชีวิตที่ดีนับเป็นสิ่งสำคัญและเป็นจุดหมายปลายทางของบุคคล ชุมชนและประเทศชาติโดยส่วนรวม ประเทศใดหากประชากรในชาติโดยส่วนรวมด้อยคุณภาพ แม้ว่าประเทศนั้นจะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เพียงใด ก็ไม่อาจทำให้ประเทศชาตินั้นเจริญและพัฒนาให้ทันหรือเท่าเทียมกับประเทศที่มีประชากรที่มีคุณภาพได้ คุณภาพของประชากรจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญและชี้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศใดจะเจริญก้าวหน้ากว่าอีกประเทศ ดังเช่น ประเทศญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพบ้านเมืองได้รับผลของสงคราม แต่ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพของประชากรญี่ปุ่น ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา จึงทำให้ประเทศญี่ปุ่นยกฐานะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น จะเห็นว่าคุณภาพชีวิตมีความสำคัญต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติ ทุกคนจึงควรรู้จักและเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตให้ถูกต้องและช่วยกันพัฒนาปรับปรุงตนเอง ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพที่ดีร่วมกันได้ในที่สุด 2.2 แนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาคุณภาพชีวิต ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะปัญหาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุมาจากมนุษย์นั่นเอง เช่น ปัญหาจำนวนประชากรมากเกินพอดี ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหา ทางสังคม รวมถึงค่านิยมต่างๆ ของสังคม ดังนั้นหากจะกล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ก็ควรพิจารณาที่องค์ประกอบคุณภาพชีวิตว่ามีสิ่งใดเป็นองค์ประกอบอยู่บ้าง ดังนี้ มีหลายหน่วยงานได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตว่าควรมีองค์ประกอบ แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้ องค์การสหประชาชาติ มีแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต 9 องค์ประกอบคือ (วิไลลักษณ์ ตั้งเจริญ, 2544, หน้า 30) 1. ด้านสุขภาพ 2. ด้านการบริโภคอาหาร 3. ด้านการศึกษา 4. ด้านอาชีพและสภาพของงานที่ทำ 5. ด้านบ้านเรือนที่อยู่อาศัย 6. ด้านหลักประกันทางสังคม 7. ด้านเครื่องนุ่งห่ม 8. ด้านสถานที่พักผ่อนและเวลาพักผ่อน 9. ด้านสิทธิมนุษยชน โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่าสุขภาพเป็นองค์ประกอบหลัก และองค์ประกอบแรกที่มีความสำคัญมาก สามารถชี้บอกคุณภาพชีวิตได้อย่างดี การบริโภคอาหารต้องครบถ้วน ถูกสุขลักษณะ ได้รับการศึกษาตามเกณฑ์อายุ อาร์ ซี ซาร์มา (Sharma) ผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโก (Unesco) กล่าวถึงองค์ประกอบของ คุณภาพชีวิตไว้ 5 ประการ คือ (ศิริ ฮามสุโพธิ์ , 2536 หน้า 34) 1. มาตรฐานการครองชีพ (standard of living) หมายถึง มาตรฐานความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของประชากร เกี่ยวข้องกับรายได้ต่อบุคคล สุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย และการสังคมสงเคราะห์ สิ่งต่างๆ นี้ เป็นส่วนสำคัญทำให้มาตรฐานการครองชีพของมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ 2. การเปลี่ยนแปลงของประชากร (population dynamics) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงประชากรอันเป็นผลมาจากการเกิด การตาย และการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย มีผลให้ประชากรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เพิ่มจำนวนหรือลดลง การเปลี่ยนแปลงประชากรมีผลกระทบต่อสถานการณ์หลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการจัดบริการสาธารณูปโภค ปัจจัยต่างๆ ล้วนมีผลต่อคุณภาพชีวิต 3. ระบบสังคมและวัฒนธรรม (socio – cultural factors) มนุษย์เมื่อรวมกันมากจำเป็นต้อง มีระบบ มีกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า รูปแบบการปกครอง กฎหมาย และมีแนวปฏิบัติอันเกิดจากความเชื่อและศรัทธาในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้การดำรงชีวิตร่วมกันมีความสงบสุขซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี 4. กระบวนการพัฒนา (process of development) การพัฒนาเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องกันและสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคม สภาพแวดล้อมและทรัพยากร ด้านคุณภาพชีวิตทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และประเทศนั้น ประชากรแต่ละกลุ่มจะต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการมีคุณภาพชีวิตที่ดี 5. ทรัพยากร (resources) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ประเทศที่มี ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์จะมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ จะมีผลทำให้มาตรฐานการดำรงชีวิตอยู่ในระดับสูง ประเทศใดมีสภาพตรงกันข้าม ก็จะมีมาตรฐานในการดำรงชีวิตอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ทรัพยากรจึงเป็นเครื่องกำหนดลักษณะประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่ยากจนได้ จากองค์ประกอบของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดังกล่าว สามารถนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เป็น 2 แนวทาง ดังนี้ แนวทางหลักที่ 1 การพัฒนา “ เชิงรุก ” มี 2 แนวทางย่อย 1. ปรับปรุงประสิทธิภาพการพัฒนา ทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ 2. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิต และการบริการ เพื่อลดต้นทุนสร้างการผลิตซึ่งจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น แนวทางหลักที่ 2 การพัฒนา “ เชิงแก้ปัญหาในอดีต ” มี 1 แนวทางย่อย 1. การกระจายความเจริญ และสร้างความเป็นธรรมเพื่อให้กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับประโยชน์จากการพัฒนามากขึ้น 2.3 ดัชนีชี้วัด และการประเมินคุณภาพชีวิต มีหลายหน่วยงานได้สร้างดัชนีวัดคุณภาพชีวิตไว้แตกต่างกัน ดังนี้ คณะกรรมาธิการ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก (ESCAP) ได้กำหนดดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิต ดังนี้ 1. เศรษฐกิจและการกระจายรายได้ 2. การเรียนรู้ และวัฒนธรรมการดำรงชีวิต 3. ชีวิตการทำงาน กลุ่มประเทศความร่วมมือพัฒนาการทางเศรษฐกิจยุโรป (OECD) ได้กำหนดดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิต ดังนี้ 1. การมีงานทำ และคุณภาพชีวิตการทำงาน 2. ความสามารถของบุคคลในการควบคุมสินค้าและบริการ 3. การเรียนรู้ของบุคคล องค์การสหประชาชาติ กำหนดดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ ดังนี้ 1. อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 2. อัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ 3. จำนวนปีโดยเฉลี่ยที่ประชากรได้รับการศึกษา 4. ดัชนีการรู้หนังสือ 5. ดัชนีการได้รับการศึกษา 6. ความสำเร็จในการรับการศึกษา 7. รายได้ประชาชาติโดยรวม ส่วนประเทศไทยมีการศึกษาทดลองกำหนดดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ซึ่งจะมี การกำหนดความจำเป็นพื้นฐาน (basic minimum need หรือ BMN หรือ จปฐ.) เพราะการดำรงชีวิต จะดีหรือไม่ดีนั้นต้องอาศัยเครื่องชี้วัด โดยมีเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ซึ่งหมายถึง ความจำเป็น ขั้นต่ำสุด ที่ทุกคนในชุมชนควรจะมี หรือควรจะเป็นในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้มีชีวิตที่ดีและสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขตามสมควร การนำเครื่องชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) มาเป็นเครื่องมือในการวัด เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของตนเอง ครอบครัวและชุมชนว่า บรรลุตามเกณฑ์ความจำเป็น พื้นฐานแล้วหรือไม่ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนานับตั้งแต่การกำหนดปัญหาตามต้องการที่แท้จริงของชุมชน ตลอดจนค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูล จปฐ. ที่มีอยู่เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) จะประกอบด้วย 9 หมวด 37 ดัชนีชี้วัด ดังนี้ ตารางที่ 2.1 แสดงดัชนีชี้วัดความจำเป็นพื้นฐานสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดี ตารางที่ 2.1 (ต่อ) หมวดที่ 9 บำรุงสิ่งแวดล้อม (ประชาชนมีจิตสำนึก และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม) 36. ครัวเรือนได้ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ *37. ครัวเรือนได้ร่วมป้องกันสิ่งแวดล้อม ที่มา (วิไลลักษณ์ ตั้งเจริญ, 2544, หน้า 36-37) ถ้าบรรลุเกณฑ์ จปฐ. ทั้ง 37 ข้อ นับได้ว่าบรรลุการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่หากบรรลุเฉพาะข้อที่มีเครื่องหมาย * ถือได้ว่าบรรลุการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า (health for all : HFA) ซึ่งหมายถึง การที่ทุกคนเกิดมามีชีวิตยืนยาวและอยู่อย่างมีคุณภาพ ไม่เจ็บป่วย ด้วยสาเหตุที่ไม่จำเป็นและสามารถเข้าถึงบริการ สาธารณสุขที่เหมาะสม สามารถดำรงชีวิตอยู่และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างมีคุณภาพและเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี 2.4 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต วิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่จัดเรียบเรียงไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ ส่วนเทคโนโลยี (technology) เป็นการนำความรู้วิทยาศาสตร์ไปใช้ในทางปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ซึ่งเทคโนโลยีสามารถมองเห็นได้ วัดได้ หรือจับต้องได้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน คือ เทคโนโลยี เป็นการประยุกต์ความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้ในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ให้มีประโยชน์ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์กันเพราะ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะไร้ประโยชน์หากขาดเทคโนโลยีเชื่อมโยง และเทคโนโลยีที่ขาดพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก็จะไม่พัฒนาหรือไม่ได้รับการยอมรับในที่สุด ส่วนคุณภาพชีวิต ของประชากรเป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจและเลือกใช้เทคโนโลยีที่นำไปใช้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เช่น ถ้าประชากรมีการศึกษาสูง ฐานะทางเศรษฐกิจดี โอกาสการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีก็มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้าประชากรมีระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจต่ำโดยเฉพาะในชนบท จะพบว่าโอกาสในการตัดสินใจการเลือกใช้เทคโนโลยีจะอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งมีผลต่อระดับคุณภาพชีวิตที่ต่ำตามไปด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าคุณภาพชีวิตของประชากรในแต่ละประเทศเป็นดัชนีชี้ให้เห็นระดับการพัฒนา ถ้าสังคมใดมีคุณภาพชีวิตประชากรอยู่ในระดับสูงก็จะสามารถวางแผนกำหนดวิธีการพัฒนาตนเอง และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับศักยภาพของตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากสังคมใด คุณภาพชีวิตประชากรต่ำก็ส่งผลให้การดำรงชีวิตทุกๆ ด้านต่ำไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสร้างเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศในทุกๆด้านเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น
Posted on: Mon, 11 Nov 2013 13:52:59 +0000

Recently Viewed Topics




© 2015