อีกครั้งกับ 6 ตุลา 37 ปี - TopicsExpress



          

อีกครั้งกับ 6 ตุลา 37 ปี ที่ (ใคร) ทำให้ลืม 125 ปี “ปฏิรูปการปกครอง” (government reform) พ.ศ.2435-2555 ภาพรวมของการเมืองการปกครองสยาม/ไทย ในรอบ 125 ปีของการเมืองการปกครองสยาม/ไทยยุคใหม่ มีการใช้ "ปฏิรูปการปกครอง" รวม 3 ครั้ง ในครั้งแรก คือสมัยรัชกาลที่ 5 ที่บรรลุความสำเร็จในการกระชับอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางที่พระมหากษัตริย์ปี 2435 (centralization) เรียกกันว่า "ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ทำให้เกิดการสร้างระบอบการปกครองตามแบบราชสำนักตะวันตกที่เรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (the absolute monarchy) ครั้งที่สอง คือ 6 ตุลาคม 2519 การรัฐประหารโดยคณะ "ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ครั้งที่สาม คือ 19 กันยายน 2549 การรัฐประหารโดยคณะ "ปฏิรูปการปกครอง" ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6 ตุลา 19 และต่อๆ มา (พฤษภา 35 และ เมษา-พฤษภา 53) เบเนดิก แอนเดอร์สัน ได้วิเคราะห์การ “ฆ่า” ในการเมืองไทยว่า "ฆาตกรรมทางการเมืองด้วยน้ำมือกลุ่มปกครอง เป็นบุคลิกปกติของการเมืองไทย ... มีแบบฉบับเป็นฆาตกรรม "เชิงบริหาร" ดำเนินการโดยเครื่องไม้เครื่องมือทางการของรัฐ และบ่อยครั้งแอบทำกันลับๆ สาธารณชนไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวว่าเกิดอะไรขึ้น ... ความทารุณโหดร้ายในช่วงปี 2517-2519 ก็คือ ลักษณะที่ไม่ได้เป็นไปในเชิงบริหาร แต่เปิดเผยต่อหน้าธารกำนัล และกระทั่งมีม็อบเข้าร่วมด้วยของมัน ... การรุมฆ่าจับแขวนคออย่างสยดสยองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมนั้น ก็เกิดขึ้น ณ สถานที่เปิดเผยโจ่งแจ้งต่อหน้าธารกำนัลที่สุดในสยามประเทศ นั่นคือ สนามหลวง อันเป็นมหาจตุรัสใจกลางพระนครเบื้องหน้าพระบรมมหาราชวัง" อ่าน เบเนดิก แอนเดอร์สัน น่าจะช่วยทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า ทำไม บ้านเมืองเราถึง "ลงแดง" เป็นระยะ "บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม" แปลโดย เกษียร เตชะพีระ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ่าน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ “จาก 14 ถึง 6 ตุลา” จิตเจตนาในการ "ฆ่า" ประชาชน จิตเจตนาในการ "ฆ่า" ประชาชนในแผ่นดินนี้ มีอยู่ในใจของพวกเขาเสมอมา เขา "ลงทุน" "ฆ่า" เพื่อรักษา status quo อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บันทึกไว้ว่า "เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษาและประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในตุลาคม 2516 ... มีผู้กล่าวว่า ถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่น บ้านเมืองจะสงบราบคาบ ... ในกันยายน-ตุลาคม 2519 เอง ก็ยังมีผู้กล่าวว่า การฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก 30,000 คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก" (ป๋วย อึ๊งภากรณ์, "ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519" ใน “จาก 14 ถึง 6 ตุลา.” หน้า 50) บูชายัญ ณ กลางกรุงเทพมหานคร การฆ่าอย่างเปิดเผยเสมือนการบูชายัญ ณ กลางกรุงเทพมหานครเมื่อ 6 ตุลา 2519 คืออีกด้านของเหรียญที่มีการเปิดใช้พลังนิสิตนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลา 2516 เพื่อล้มคณาธิปไตยเผด็จการทหารอันยาวนาน แต่ 6 ตุลา 19 นั้น "นิสิตนักศึกษา" ได้รับเกียรติยิ่งจาก คณะ "ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ให้เป็นปัจจัยสาเหตุหลัก หรือ "ผู้ร้าย" ในหน้าประวัติการเมืองไทยครั้งแรกและครั้งเดียว โดยการนำอดีต "ทรราชย์" มาเป็นเหยื่อ และใช้ข้ออ้างอย่างตรงไปตรงมาว่า นักศึกษามี "เจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์...." อย่างไม่เคยอ้างโดยลายลักษณ์อักษรมาก่อนเลยในหน้าประวัติศาสตร์การรัฐประหาร ไทย (แม้แต่เมื่อคราว รปห. 2490 ก็ตาม) ข้ออ้างสำคัญของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อย่ำค่ำ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากที่เมื่อย่ำรุ่งได้ "ฆ่า" นิสิตนักศึกษาประชาชนไปแล้ว คือ นักศึกษาบางส่วนเป็นเหตุสำคัญที่พวกเขาต้องเข้ายึดอำนาจ ("ถูกฆ่า" แล้วยัง "ถูกอ้าง" ....) ข้ออ้างในแถลงการณ์ รปห.ของคณะ "ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" 6 ตุลา 19 คือ "ได้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่ม ได้ทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นการเหยียบย่ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดยเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์...." อ่าน "ข้ออ้าง" การปฏิวัติ-รัฐประหารฯ บทวิเคราะห์และเอกสาร โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ สรุป หากใช้ “ข้ออ้าง” และการ “ฆ่า” ในคราว 6 ตุลามาเป็นต้นแบบการวิเคราะห์ การฆ่าในคราว พฤษภา 2535 และคราว เมษา-พฤษภา 2553 เราก็อาจสามารถถอดสูตรข้ออ้างในการ “ฆ่า” ทางการเมืองกลางกรุงเทพมหานคร “อย่างเปิดเผย” ได้ว่า ผู้ถูกฆ่า คือ นิสิตนักศึกษา – คนชั้นกลาง – คนชั้นล่าง = ประชาชน ภายใต้การกำกับของชื่อ “ปฏิรูปการปกครอง” แผ่นดิน/ประชาธิปไตย เพื่อ “รักษาความสงบเรียบร้อย” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รำลึก “6 ตุลา” ในปี 2555 thamrongsakpetch.blogspot/2012/10/125-government-reformation-2435-2555.html
Posted on: Sun, 06 Oct 2013 08:19:12 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015