๓. ปัจจุบัน - TopicsExpress



          

๓. ปัจจุบัน แล้วในหัวข้อสุดท้าย จึงจะได้กล่าวถึงการปรับระบบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของออสเตรเลีย (5) ต่อไป ทั้งนี้ โดยจะได้นำเสนอประเด็นสำคัญของการปฏิรูประบบราชการของออสเตรเลียทั้งห้าประเด็นดังกล่าว ตามลำดับต่อไปนี้ 1. การปรับโครงสร้างของระบบราชการ ภายในโครงสร้างการจัดระบบองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่รัฐบาลกลางในระดับสหพันธรัฐของออสเตรเลีย สามารถแยกพิจารณาองค์กรปฏิบัติงานของรัฐบาลกลางออกได้เป็นสี่ประเภท ได้แก่ ส่วนราชการในรูปของสำนักงาน (Department) รัฐวิสาหกิจ (Government Business Entreprise) องค์การบริหารอิสระ (Statutory Agency) และองค์กรบริหารเฉพาะด้านที่ตั้งขึ้นใหม่ในฝ่ายบริหาร (Executive Agency) 1.1 ระบบราการและการจัดส่วนราชการของออสเตรเลีย โดยที่ประเทศออสเตรเลียมีสภาพเป็นสหพันธรัฐ (Federal State) ซึ่งมีการจัดโครงสร้างของระบบราชการสองระดับที่ซ้อนกันอยู่ คือในระดับสหพันธรัฐ (ซึ่งออสเตรเลียเรียกว่า Commonwealth of Australia) กับในระดับมลรัฐ (State) * ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับระบบราชการของออสเตรเลียจึงเป็นการศึกษาถึงระบบราชการทั้งสองระดับดังกล่าว แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับระบบราชการของประเทศไทย ในที่นี้จึงจะกล่าวถึงเฉพาะระบบราชการของสหพันธรัฐ (Commonwealth of Australia) เท่านั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการในระดับมลรัฐจะได้กล่าวถึงเมื่อมีประเด็นเกี่ยวข้องในหัวข้อที่ว่าด้วยการปรับระบบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นต่อไป ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) ออสเตรเลียจัดโครงสร้างระหว่างอำนาจในทางการเมืองโดยมีแบบอย่างจากประเทศอังกฤษ กล่าวคือ ประกอบด้วยสภาสองสภา สภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยเลือกแบบเขตเดียวคนเดียว (ในปี 2542 มีจำนวนที่นั่งของสมาชิก 148 ที่นั่ง) และสภาสูงหรือวุฒิสภา (Senate) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสภากลั่นกรองกฎหมายและรักษาผลประโยชน์ของมลรัฐทั้งหลาย ซึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละมลรัฐในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (มีจำนวนที่นั่งของสมาชิก 76 ที่นั่งโดยเลือกจากมลรัฐต่าง ๆ มลรัฐละ 12 ที่นั่งและจากเขตปกครองพิเศษ 2 เขต ๆ ละ 2 ที่นั่ง) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ขณะที่สมาชิกสภาสูงมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละหกปี (เว้นแต่สมาชิกสภาสูงที่ได้รับเลือกจากเขตปกครองพิเศษมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี) รัฐบาลหรือองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารของออสเตรเลียมาจากการเลือกตั้งและอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระของสภาผู้แทนราษฎร และเช่นเดียวกับระบบของอังกฤษ ประเทศออสเตรเลียมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในลักษณะคณะรัฐมนตรีวงใน (Cabinet หรือ Inner Cabinet) (ตามคำเรียกขานของประเทศอังกฤษ) ซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีที่สำคัญ ซึ่งทำหน้าที่ตัดสินใจและกำหนดนโยบายในการบริหารงานของรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ ด้วย ----------------------------------------------- * ออสเตรเลียประกอบด้วยมลรัฐหกมลรัฐและเขตปกครองพิเศษสองเขต ได้แก่ มลรัฐนิวเซาต์เวลส์, มลรัฐควีนส์แลนด์, มลรัฐเซาต์ออสเตรเลีย, มลรัฐทัสมาเนีย, มลรัฐวิคตอเรียและมลรัฐเวสเทอร์นออสเตรเลียและเขตปกครองพิเศษสองแห่งได้แก่ ดินแดนรกร้างว่างเปล่าทางตอนเหนือซึ่งเรียกว่า นอร์ทเทิร์นเทอริทอรี่ และบริเวณที่ตั้งของกรุงแคนเบอร์ร่าอันเป็นเมืองหลวงที่เรียกว่าออสเตรเลียน แคปปิตัล เทอริทอรี่ สำหรับการจัดระบบราชการ ณ เดือนตุลาคม 2541 ออสเตรเลียมีหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของรัฐสภา ระดับเทียบเท่ากับกระทรวง ทบวง กรม ของประเทศไทยที่เรียกว่า Department จำนวน 5 หน่วยงาน (ได้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการรสภาสูง, สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, สำนักงานห้องสมุดรัฐสภา, สำนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำรายงานของรัฐสภา) และมีหน่วยงานในระดับเดียวกันที่อยู่ในความดูแลของฝ่ายบริหาร โดยมีรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบดูแลกำหนดนโยบาย (มีสถานะเช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรม ในระบบราชการของไทย) จำนวน 17 หน่วยงาน ได้แก่ * 1. สำนักงานอัยการสูงสุด 2. สำนักงานการสื่อสารโทรคมนาคม ข้อมูลสารสนเทศและศิลปะ 3. สำนักงานกิจการกลาโหม 4. สำนักงานการศึกษา การฝึกอบรม และกิจการเยาวชน 5. สำนักงานสิ่งแวดล้อมและมรดกของชาติ 6. สำนักงานการเงินและการบริหารงบประมาณ 7. สำนักงานกิจการต่างประเทศและการค้า 8. สำนักงานการสาธารณสุขและการดูแลผู้สูงอายุ 9. สำนักงานการย้ายถิ่นฐานและความหลากหลายทางวัฒนธรรม 10. สำนักงานอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และทรัพยากร 11. สำนักงานการเกษตร ประมงและป่าไม้ 12. สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี 13. สำนักงานกิจการครอบครัวและการบริการชุมชน 14. สำนักงานกิจการขนส่งและการบริการภูมิภาค 15. สำนักงานการคลัง 16. สำนักงานกิจการทหารผ่านศึก 17. สำนักงานกิจการแรงงาน ความสัมพันธ์ในสถานประกอบการและธุรกิจขนาดเล็ก นอกจากหน่วยงานที่มีรัฐมนตรีรับผิดชอบดูแลโดยตรงแล้ว ระบบราชการของออสเตรเลียยังประกอบด้วยหน่วยงานในลักษณะเดียวกันกับกระทรวง ทบวง กรมของไทยซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายรับรองความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานโดยไม่ขึ้นต่อรัฐมนตรีอีกหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานข้าราชการและการพิทักษ์คุณธรรม (Public Service Merit Protection Commission – PSMPC) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งชาติ (Australian National Audit Office) เป็นต้น สำหรับประมุขของรัฐของประเทศออสเตรเลียได้แก่สมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ ซึ่งแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ (Governor – General) ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย เป็นผู้แทนพระองค์ในการใช้อำนาจในทางพิธีการต่าง ๆ ในฐานะประมุขของรัฐ เช่น การลงนามประกาศใช้กฎหมายหรือการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น ------------------------------------------------
Posted on: Sat, 26 Oct 2013 07:46:06 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015