เลิกมุ่งช่วยทักษิณ - TopicsExpress



          

เลิกมุ่งช่วยทักษิณ แนะหันกระตุ้นศก. ข่าวหน้า 1 22 August 2556 - 00:00 ไทยโพสต์ - อิสรภาพแห่งความคิด “สุรนันทน์” สวมบทขุนคลัง เลคเชอร์ข้ามฟ้าเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ระบุแค่ชะลอลงสู่ภาวะปกติ! กอร์ปศักดิ์แนะใช้ 2 ปีที่เหลือเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่ามุ่งแต่เรื่องแม้ว “ออมสิน” เริ่มจับตาสินเชื่อส่วนบุคคล หุ้นดิ่งอีก 3 วันเกือบ 100 จุด “กนง.” คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% เหตุ ศก.ยังต้องใช้นโยบายผ่อนคลายกระทุ้ง กรณีสื่อดังของอังกฤษอย่างบีบีซี ได้ออกบทวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หดตัวลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสนั้น ทำให้เมื่อวันพุธ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ยังอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรี ต้องเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์รัฐบาลไทย โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เกิดปัญหาถดถอย เป็นเพียงการเติบโตชะลอตัวลงกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ วิเคราะห์ได้ทั้งในรูปแบบเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยถ้าวิเคราะห์แบบปีต่อปี เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5.4% ในไตรมาสแรก และ 2.8% ในไตรมาสที่ 2 ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวอยู่ แต่มีอัตราลดลงหรือชะลอตัวลง “การชี้นำว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยนั้น เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วน ทำให้เกิดการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยนำเสนอเพียงตัวเลขแบบไตรมาสต่อไตรมาสเท่านั้น” นายสุรนันทน์กล่าวและว่า ในอดีตการติดลบของจีดีพีแบบไตรมาสต่อไตรมาส เคยเกิดขึ้นมาแล้วในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 โดยติดลบ 4.8% และ 2.6% ซึ่งแตกต่างกับปัจจุบันที่เป็นการปรับตัวจากฐานที่สูงมากในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 เพื่อเข้าสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระดับปกติ แต่เมื่อปี 2552 เกิดจากการที่เศรษฐกิจซึ่งอยู่ในภาวะปกติแล้วลดลงสู่ระดับต่ำผิดปกติ นายสุรนันทน์ยังระบุว่า นายกฯ ได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ผ่านทางโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และลดความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย ในขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิการนายกฯ ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า น่าเป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ซึ่งหากเศรษฐกิจถดถอย ลูกหลานเรียนจบจะหางานทำยากขึ้น ส่วนคนที่มีงานทำอยู่แล้วอาจหมดโอกาสได้โบนัสพิเศษ ไม่ได้ปรับเงินเดือนเพิ่ม ซ้ำร้ายอาจถูกปลดออกจากงาน ที่โดนกระทบมากคือ รายได้ของรัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีจะไม่เป็นไปตามเป้า เพราะประชาชนผู้เสียภาษีมีรายได้น้อยลง “2 ปีที่เหลือ ขอร้องให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญในการทำงานโดยด่วนสุด ควรหยุดภารกิจเรื่องส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องไปก่อน เพื่อให้การเมืองนิ่งสักระยะหนึ่ง และทุ่มกำลังสุดฝีมือเข้าแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน” นายกอร์ปศักดิ์กล่าวและว่า ภารกิจในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจวันนี้อยู่ที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ต้องเร่งกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยติดต่อกันจาก 2 เป็น 3 เป็น 4 ไตรมาส อย่าให้จาก mild recession เป็น recession เต็มตัวเป็นอันขาด ด้านนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยอมรับว่า ธนาคารได้ประเมินสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เริ่มมีสัญญาณการถดถอย ว่าอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการ ที่เป็นการกู้สินเชื่อบุคคลเพื่อการจับจ่ายใช้สอยโดยทั่วไป ซึ่งหากเศรษฐกิจเกิดการถดถอยขึ้นจริง ลูกค้ากลุ่มนี้อาจมีปัญหาในการชำระหนี้เกิดขึ้นได้ แม้ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณการเกิดปัญหาแต่อย่างใด วันเดียวกัน ภาวะตลาดหุ้นไทยลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน หลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงตัวเลขจีดีพีที่ลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาส โดยดัชนีช่วงปิดครึ่งวันอยู่ที่ระดับ 1,364.23 จุด ลดลง 6.63 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -0.48% มูลค่าการซื้อขาย 20,499.43 ล้านบาท และเมื่อปิดตลาด ดัชนีปิดที่ 1,355.44 จุด ลดลง 15.72 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -1.15% มูลค่าการซื้อขาย 41,865.57 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 5,702.59 ล้านบาท กองทุนซื้อ 3,434.30 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขาย 1,758.06 ล้านบาท และรายย่อยขาย 4,026.36 ล้านบาท ขณะที่เปิดตลาด 3 วันลงไปแล้ว 91.22 จุด น.ส.อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค แต่วันนี้ถือว่าปรับตัวลงน้อยกว่า 2 วันที่ผ่านมา แต่คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายต่อเนื่อง แต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส ชี้ว่า คาดว่าดัชนีจะยังคงปรับตัวลดลงในแดนลบต่อ เพราะมีปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ปรับลด การเติบโตของจีดีพี และการเมืองในรัฐสภา รวมทั้งความกังวลในปัจจัยต่างประเทศ ส่วนในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% เพราะเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง หลังจากหมดนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐ ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แม้จะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม ทำให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ “ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินในลักษณะผ่อนคลายนี้ต่อไป เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมถึงกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนด้วย” นายไพบูลย์ระบุ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.ยังเผยด้วยว่า ที่ประชุม กนง.ยังให้น้ำหนักความสำคัญและเป็นห่วงเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเป็นห่วงเรื่องปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ที่ผ่านมาตลาดดังกล่าวได้ปรับตัวสอดรับกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ทำให้ปัญหาทุเลาลง ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงนั้น สถาบันการเงินได้แก้ปัญหาโดยระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยหลังจากนี้ กนง.จะยังคงติดตามสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อใช้ประเมินทิศทางดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างใกล้ชิด “กนง.ได้ประเมินแล้วว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้อ่อนแรงลง แต่ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะภาพรวมการขยายตัวยังเติบโตได้ในระดับที่ประเมินไว้ แต่ยังห่วงตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้ เพราะยังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนมาก” นายไพบูลย์กล่าวและว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะปรับตัวได้ดีขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจโลก ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินลักษณะผ่อนปรน จะช่วยกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่จะชัดเจนมากขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย.
Posted on: Thu, 22 Aug 2013 03:46:02 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015